ญิณ : ความเชื่อโลกคู่ขนานของมนุษย์สู่ภาพยนตร์ของแขก

หน้าแรก ย้อนกลับ ญิณ : ความเชื่อโลกคู่ขนานของมนุษย์สู่ภาพยนตร์ของแขก

ญิณ : ความเชื่อโลกคู่ขนานของมนุษย์สู่ภาพยนตร์ของแขก

ที่มา เพจเฟซบุ๊ก Ground Control

ญิณ : ความเชื่อโลกคู่ขนานของมนุษย์สู่ภาพยนตร์ของแขก

          โลกคู่ขนานเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกับ ‘ภูตผีปีศาจ’ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการมองเห็นของมนุษย์ แม้มองไม่เห็น แต่รับรู้ว่ามีอยู่จริง คำดังกล่าวนิยามสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีทว่าในทางศาสนากลับมีคำตอบของเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นปัจเจก ทั้งยังแตกต่างกันไปในแต่ละความเชื่อ
ความศรัทธาที่ว่าภูตผีปีศาจอาจมีที่มาจากคนตาย หรือมาจากอีกโลกหนึ่งซึ่งเราไม่มีวันรับรู้ถึงการมีอยู่ด้วยตาเนื้อ

ภูตผีปีศาจหรือ ‘ญิณ’ ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม

          “ญิณ” ปรากฏในอาหรับยุคก่อนอิสลามและผนวกรวมเข้ากับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานในเวลาต่อมา
ญิณในความเชื่อของศาสนาอิสลามไม่ใช่ภูตผีปีศาจจากผู้เสียชีวิต หากแต่เป็นอมนุษย์ที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นจากไฟ มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของญิณได้ แต่ญิณสามารถมองเห็นมนุษย์ จำแลงแปลงกาย และดำเนินกิจวัตรประจำวันเสมือนมนุษย์ในโลกนี้หรือโลกอีกมิติหนึ่งได้ ดังนั้นในคัมภีร์อัลกุรอานจึงมีการระบุชัดเจนว่ามนุษย์และญิณเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกัน หากแต่ญิณมีอายุขัยยืนยาวกว่ามนุษย์ ราว 500-1,000 ปี เมื่อญิณถูกกำหนดให้เหมือนมนุษย์ แน่นอนว่า ‘อุปนิสัย’ ของญิณย่อมแตกต่างกันไปเหมือนอย่างมนุษย์เราเช่นกันตามความเชื่อของชาวอาหรับโบราณเชื่อว่าญิณมีทั้งดีและไม่ดี โดยญิณที่ดีจะคอยปกป้องคน บ้านเมือง และสามารถขอพรเรื่องต่าง ๆ ได้ อาทิ ‘จินนี่’ ในการ์ตูนเรื่อง Aladdin หรือญิณในบทกวีโบราณของเปอร์เซียในขณะเดียวกันญิณที่ไม่ดีจะคอยสร้างเคราะห์ร้ายให้แก่มนุษย์ หรือคอยหลอกล่อให้มนุษย์หันเหออกห่างจากอัลลอฮฺด้วยความเจ้าเล่ห์ซึ่งเป็นญิณอีกจำพวกซึ่งมีความชั่วร้ายและไร้การนับถือต่อพระเจ้า นามว่า ชัยฏอน

“ภาพวาดโบราณจากเปอร์เซียในช่วงศตรรษที่ 16 บอกเล่าฉากตอนที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานที่ญิณมาช่วยสร้างกำแพง

เพื่อป้องกันมนุษย์จากการรุกรานของเผ่าพันธุ์ชั่วร้ายในช่วงใกล้วันสิ้นโลก”

ที่มา https://www.facebook.com/113049717005078/posts/256409462669102/

 

          แม้ญิณจะไม่ถูกจัดอยู่ในจำพวกผีหรือปีศาจ ทว่าภาพจำของผู้ที่นับถือในพระเจ้านั้น ญิณ คือสิ่งที่จำต้องหลีกห่างเพื่อไม่ให้ถูกล่อลวงได้โดยง่าย สอดคล้องกับสื่อที่นำเสนอในแง่ความร้ายกาจของญิณ ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ การ์ตูน หรือแม้แต่ภาพยนตร์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับชมโดยทั่วไปตระหนักถึงความชั่วร้ายของญิณ เฉกเช่นสื่อที่นำเสนอความน่ากลัวของสิ่งที่มองไม่เห็นและเหล่าภูตผีปีศาจในความเชื่อตามศาสนาอื่น ๆ

ภาพยนตร์ของแขก และความเชื่อของ ‘ญิณ’ ที่ควรหลีกห่าง

          ‘ของแขก’ เป็นภาพยนตร์ซึ่งนิยามถึงไสยศาสตร์ทางศาสนาอิสลามผ่านชื่ออย่างสั้น ๆ โดยเป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ย้ายลงมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนจะพบเจอกับไสยศาสตร์ที่ชวนหวาดผวาในรูปแบบต่าง ๆ แล้วของแขกเกี่ยวข้องอย่างไรกับญิณ? ตามที่ อับดุลเลาะ การีนาและอัลดุลลอฮ อัลอุซามะฮ์ (2551, น. 36) กล่าวถึงความหมายของไสยศาสตร์ หรืออัสสิหฺร์ เอาไว้ว่า อัสสิหฺร์คือส่วนหนึ่งของการลวงตาของหมอผี (โต๊ะบอมอ) ที่ทำขึ้นโดยการช่วยเหลือจากญิณหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่โดนสิ่งเหล่านั้น กล่าวคือ ญิณเปรียบเสมือน ‘คู่สัญญา’ ของหมอผี ซึ่งมีไว้เพื่อทำไสยศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆเนื่องจากญิณสามารถลอบฟังความลับของสวรรค์มาบอกหมอผีได้ อีกทั้งยังมีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์หลายเท่าตัว ซึ่งญิณภายในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอโดยอิงจากคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด นั่นคือญิณที่สามารถแปลงกาย หลอกลวง และสร้างเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ตามคำสั่งจากผู้ที่ทำพันธะสัญญา

          แม้ว่าศาสนาอิสลามจะยอมรับถึงการมีอยู่ของญิณแต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้หมกมุ่นอยู่กับการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับญิณที่เบาบางจึงทำให้ไสยศาสตร์และญิณถูกพูดถึงในวงจำกัดเท่านั้นทว่าความกล้าหาญของทีมผู้สร้างภาพยนตร์ของแขกทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งย้ำเตือนผู้ที่มีใจออกห่างจากพระเจ้าให้มองเห็นผลเสียและกลับมาเคารพนับถือในพระองค์ รวมไปถึงย้ำเตือนคนในสังคมนี้ว่า“สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง” ดังนั้นการยึดมั่นทำแต่ความดีและปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดจึงถือเป็นเกราะคุ้มภัยอันทรงพลังที่สามารถนำตนเองออกห่างจากสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง

 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2566). ญิณ. สืบค้น 24 ธันวาคม, 2566 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/
%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%99

อับดุลเลาะ การีนาและอับดุลลอฮ อัลอุซามะฮ์. (2551). ความเชื่อของมุสลิมที่มีต่ออัสสิหฺร์ (ไสยศาสตร์)
อัลกะฮานะฮฺ (การทำนาย) และอัลอิรอฟะฮฺ (การดูดวง)
: กรณีศึกษาในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. https://kb.psu.ac.th/psukb/handle
/2010/6213

GroundControl. (2564). ทำความรู้จัก ‘Jinn’ อมนุษย์ในคัมภีร์อัลกุรอาน ต้นแบบ ‘Genie’ (จ๊ะ) ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง. สืบค้น 4 มกราคม, 2567 จาก https://www.facebook.com/
113049717005078/posts/256409462669102/

Samak Kosm. (2560). เรื่อง ‘ญิณ’ : ความใกล้ชิดกับอมนุษย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. สืบค้น 27 ธันวาคม, 2566 จาก https://thematter.co/thinkers/jinn-in-yala-pattani-narathiwat/25899 

 

แชร์ 100 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้